มนุษย์ปวดหัวเพราะต้องเลือก


มนุษย์ปวดหัวเพราะต้องเลือก

 

 

เศรษฐศาสตร์ทำประโยชน์ให้สังคมด้วยการพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการเลือกและบอกว่าการเลือกอยู่ทุกแห่งหน จนอาจหาญระบุว่า “ชีวิตคือเรื่องของการเลือก” (life is about choices) 

เราจะตัดสินใจเลือกอะไรได้นั้นต้องใช้การเปรียบเทียบอยู่เสมอ เช่น จะซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่องก็ต้องเปรียบเทียบหลายยี่ห้อในระดับราคาเดียวกันว่ายี่ห้อใดให้สิ่งที่มีคุณภาพถูกใจเรามากที่สุด หากเป็นผู้บริโภคที่ละเอียดรอบคอบก็จะศึกษาคุณลักษณะของแต่ละยี่ห้อ อ่านคำประเมินของผู้บริโภคคนอื่นแล้วเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน

อีกการตัดสินใจหนึ่งก็คือเมื่อตกลงปลงใจกับยี่ห้อหนึ่งได้แล้ว ก็พบว่ามีรุ่นใหม่ที่ราคาแพงกว่านี้อีกแต่มีออปชั่นเด็ดๆ เพิ่มเติม ปัญหาก็คือจะตัดสินใจอย่างไร เงินน่ะมีแต่จะซื้อรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ดี เศรษฐศาสตร์บอกว่าให้พิจารณาออปชั่นที่เพิ่มขึ้นว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ และมันคุ้มกับเงินที่เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าเห็นว่าคุ้มก็ซื้อรุ่นใหม่ ถ้าเห็นว่าถึงมีออปชั่นใหม่ก็ไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่เป็นก็จงซื้อรุ่นเก่าไป เราจะจ่ายเงินซื้อสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเราไปทำไมกัน

การทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่าการเลือกทำให้ผู้เลือกมีความเหนื่อยล้าจนขาดความสามารถในการตัดสินใจที่ดีเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และด้วยเหตุนี้แหละเราจึงเห็นคนหัวดีชอบจัดเรื่องที่อยากให้อนุมัติง่ายๆ หรือไม่ต้องการให้ดูละเอียดไว้ในวาระท้ายของการประชุม เมื่อที่ประชุมเหนื่อยล้ากับการตัดสินใจเลือกมาหลายวาระแล้ว พอมาถึงตอนท้ายโดยเฉพาะเวลาใกล้เที่ยง เรื่องที่มักถกเถียงกันยาวนานก็จะสั้นลงโดยธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีในทุกวัฒนธรรมและในทุกระดับของการประชุม 

เมื่อพฤติกรรมเป็นเช่นนี้ หากอยากรู้ว่าผู้จัดวาระหัวดีปรารถนาให้อนุมัติเรื่องอะไรอย่างมากหรือต้องการให้พิจารณาวาระใดแบบรีบๆ ก็จงมองหาวาระท้ายๆ ของการประชุมที่เขาจัดมานั้นแล

ในชีวิตประจำวันสิ่งที่ทำให้พลังในการเลือกเหนื่อยล้าลงไปมากก็คือความหลากหลายของสิ่งที่มีให้เราเลือก ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนข้าวก็คือข้าว ปัจจุบันมีข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิธรรมดาหรือกล้อง ข้าวมันปู ข้าวออแกนิค ข้าวเมล็ดสั้นแบบญี่ปุ่น ข้าวแดง ฯลฯ ส่วนน้ำก็ไม่ใช่มีแต่น้ำธรรมดาให้เลือก แต่มีน้ำแร่จากในและนอกประเทศ ชาอู่หลง ชาเขียว น้ำด่าง น้ำอัดอ๊อกซิเจน น้ำขวดใส ขวดขุ่น น้ำในประเทศ นอกประเทศ ฯลฯ 

โทรทัศน์เมื่อก่อนก็มีเพียงช่อง 3, 5, 7, 9, 11 ปัจจุบันมีอีกนับร้อยๆ ช่องผ่านดาวเทียมจานสีต่างๆ จนมีขยะอยู่เป็นจำนวนมากและพอมีสิ่งที่เป็นสาระอยู่บ้างให้เลือกดูในช่วงเวลาเดียวกัน

การลงทุนก็มิได้มีแค่ฝากเงินในธนาคารหรือซื้อทองหรือซื้อหุ้น แต่มีหุ้นจำนวนมากตัวขึ้นให้เลือก มีกองทุนเปิดและปิดหลากหลายลักษณะทั้งของในและนอกประเทศ ประกันชีวิต อสังหาริมทรัพย์ หุ้นทอง ฯลฯ

ถ้าลองไล่รายสินค้าแต่ละชนิดดูก็จะพบว่ามีสินค้าต่างยี่ห้อและใกล้เคียงกันให้เลือกมากมายในปัจจุบันอย่างน่าปวดหัวและอย่างน่าสงสารกระเป๋าหากไม่มีพลังใจเข้มแข็งพอในการแยกระหว่าง needs (สิ่งจำเป็น) และ wants (สิ่งที่ต้องการ) 

เมื่อมีสิ่งให้เลือกมากมายเช่นนี้ เราจึงยากที่จะมี perfect decision (ตัดสินใจเลือกได้สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด) แม้แต่การเลือกคู่ชีวิตก็ตามที การเลือกคู่ชนิด perfect หรือ the best ไม่สามารถมีได้ จะมีก็แต่ความพอใจจากการได้คนที่ good enough มาเท่านั้น

“ชีวิตเป็นเรื่องของการเลือก” นั้นเป็นสัจธรรม เพราะตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์เผชิญหน้ากับการเลือกตลอดเวลา เมื่อมีการเลือกก็มีต้นทุนเสมอเพราะจะได้อะไรมาก็จำเป็นต้องเอาบางสิ่งไปแลก

อยากรู้ภาษาจีนดีก็ต้องเสียเวลา เสียเงินทอง เสียแรงงานเล่าเรียนท่องบ่น ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เสียโอกาสในการเอาเวลา เงินทอง และแรงงานเหล่านั้นไปทำอย่างอื่นแทน พูดอีกอย่างก็คือเกิดค่าเสียโอกาสในการเรียนภาษาจีน แต่ความจริงก็คือไม่มีใครจะสามารถเก่งภาษาจีนได้ถ้าไม่ยอมจ่ายค่าเสียโอกาสก้อนใหญ่นี้ (เข้าทำนอง “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”)

ทุกการตัดสินใจของมนุษย์ในการเลือกจะมีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นเสมอ เช่น หากเลือกนั่งในร่มก็ไม่โดนแดดให้ร้อนแต่ก็ไม่ได้รับวิตามิน D ถ้าเลือกนั่งกลางแดดถึงจะได้วิตามิน D แต่ก็ร้อน ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกนั่งในร่มหรือกลางแดดก็มีต้นทุนเกิดขึ้นทั้งนั้น

ถ้าตัดสินใจกินยาก็ต้องเสียเงินค่ายาและต้องมีผลข้างเคียง ถ้าไม่กินก็รักษาไม่หายแต่ไม่เสียเงินและไม่มีผลข้างเคียง เมื่อถึงวัยทองของหญิงหากไม่กินฮอร์โมนก็จะเผชิญกับสภาวะเหี่ยวย่นกว่าปกติทันที แต่ถ้ากินฮอร์โมนก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกกินหรือไม่กินก็มีต้นทุนทั้งสิ้น

ในการดำเนินชีวิตที่มีต้นทุนเสมอนี้เราจะต้องตระหนักถึงผลจากความอ่อนล้าของการต้องเลือกและจากการมีสิ่งหลากหลายให้เลือกจนหมดพลังและอาจขาดวิจารณญาณที่ดีในการเลือก

ถ้าการเลือกเป็นเรื่องง่ายๆ และไม่มีต้นทุน ผู้คนเขาคงไม่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในทุกสิ่งที่เราเลือกจะมีต้นทุนหรือการต้องเอาบางสิ่งไปแลกอยู่เสมอว่าเป็นศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวัง (dismal science) หรอก

ที่มา ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ



03668 โดย ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2013-08-13 21:53:42 v : 5469



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา